การอ่านสื่อสิ่งพิมพ์ประเภทเรื่องสั้น
เรื่องสั้นคืองานเขียนที่คล้ายนวนิยาย แต่มีขนาดสั้นและไม่ซับซ้อนเรื่องสั้นไม่ใช่นวนิยายขนาดสั้น หรือการย่อนวนิยาย
เปลื้อง นคร ให้ความหมายว่า เรื่องสั้น หมายถึง เรื่องซึ่งบรรจุคำประมาณ ๑,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ คำ เพื่อเป็นเรื่องที่อ่านรวดเดียวจบในระยะเวลา
ไม่เกินสี่สิบนาที และเรื่องสั้นต้องมีเค้าเรื่องที่กระชับและมีพฤติการณ์สำคัญอย่างเดียวโดยเฉพาะ
กล่าวโดยสรุป เรื่องสั้นจะต้องมีขนาดสั้น โครงเรื่องง่าย ใช้ตัวละครน้อย การกระทำและพฤติกรรมของตัวละครต้องมุ่ง
ไปสู่จุดสุดยอด (climax)


๑) องค์ประกอบของเรื่องสั้น
๑.๑) แนวคิดเรื่องแก่นของเรื่อง แนวคิด คือ สาระสำคัญของเรื่องที่เขียนขึ้น เรื่องสั้นจะมีแนวคิดสำคัญเพียงจุดเดียว และจะเป็นแก่นของเรื่อง การเสนอแนวคิดอาจบอกตรง ๆ บอกผ่านตัวละคร อยู่ที่ชื่อเรื่อง หรืออาจจะต้องตีความเอง เมื่ออ่านเรื่องสั้นจบแล้ว ความหมายที่ผู้อ่านสรุปได้คือแนวคิดของเรื่องสั้นเรื่องนั้น ซึ่งเรื่องสั้นที่ดีต้องเขียนให้ผู้อ่านเข้าใจแก่นเรื่อง
๑.๒) โครงเรื่อง เป็นโครงเรื่องที่กระชับชัดเจนไม่ซับซ้อน เพื่อเสนอแนวคิดที่ผู้เขียนกำหนดไว้
๑.๓) เนื้อเรื่อง คือเรื่องราวและเหตุการณ์ต่าง ๆ อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเป็นเรื่องราวบางแง่มุมไม่ใช่เรื่องราวละเอียดทั้งชีวิตของตัวละคร
๑.๔) ตัวละคร บทสนทนา ตัวละครหลักมีเพียง ๑-๒ ตัวตัวละครอื่นมีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น ตัวละครและบทสนทนาจะเล่าเรื่อง แสดงพฤติกรรมในเหตุการณ์ที่สมเหตุสมผล บทสนทนาใช้เท่าที่จำเป็นเพื่อทำให้เนื้อเรื่องและตัวละครมีชีวิตชีวา
๑.๕) ฉาก ผู้เขียนจะใช้การบรรยาย หรือบอกผ่านบทสนทนา อาจเป็นฉากในชีวิตจริงหรือเหนือจริง แต่ไม่บรรยายอย่างชัดเจนเหมือนนวนิยาย ฉากแม้จะมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมของตัวละคร และสอดคล้องกับโครงเรื่องและแนวคิด หากผู้เขียนนำเสนอให้ผู้อ่านไม่รู้จัก เช่น ฉากในต่างประเทศจะบรรยายละเอียดขึ้นเพื่อให้ผู้อ่านสร้างจินตนาการได้
๒) ชนิดของเรื่องสั้น
ผู้อ่านเรื่องสั้นสามารถเข้าใจเจตนาของผู้เขียนได้ ถ้าผู้อ่านทราบชนิดของเรื่องสั้น แบ่งเรื่องสั้นไว้ ๔ ชนิด คือ
๒.๑) ชนิดผูกเรื่อง เป็นเรื่องสั้นที่มีการกำหนดเค้าเรื่องไว้อย่างชัดเจน มีการผูกปมเรื่องให้เกิดความฉงนสนเท่ห์ บางครั้งเนื้อเรื่องก็ทำให้ผู้อ่านเขวไปทางหนึ่ง แต่พอถึงตอนจบกลับหักมุมเป็นการจบที่ผู้อ่านคาดไม่ถึง
๒.๒) ชนิดเพ่งแสดงลักษณะของตัวละคร เป็นเรื่องสั้นที่มุ่งแสดงให้เห็นบุคลิกภาพของตัวละครเป็นหลัก เป็นการวาดภาพตัวละครเพื่อชี้ให้เห็นลักษณะนิสัยของตัวละคร ซึ่งมีความโดดเด่นเป็นพิเศษ เช่น เกรี้ยวกราด เมตตากรุณา ฉลาดเกินคน มีความเชื่อในสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างฝังใจ เรื่องสั้นที่แสดงลักษณะตัวละครนี้ผู้เขียนสามารถสื่อสารเรื่องราวได้อย่างสมจริงและสอดคล้องกับความรู้สึกที่ต้องการ
๒.๓) ชนิดถือฉากเป็นส่วนสำคัญ เป็นเรื่องสั้นที่ผู้เขียนเน้นการพรรณนาฉาก โดยมีตัวละครเป็นส่วนประกอบที่เกี่ยวโยงอยู่ในฉากนั้น ผู้เขียนจะบรรยายฉากอย่างละเอียดจนผู้อ่านสามารถเห็นภาพจากการอ่านได้ชัดเจน
๒.๔) ชนิดแสดงแนวความคิดเห็น เป็นเรื่องสั้นในแนวอุดมคติที่ต้องการชี้ให้เห็น ประเด็นความคิดใดความคิดหนึ่งที่ผู้เขียนต้องการจะบอกหรือชี้ให้เห็นถึงความเชื่อในสิ่งหนึ่งสิ่งใดรวมไปถึงการวิพากษ์สังคมโดยผ่านตัวละคร
๓) แนวทางในการอ่านเรื่องสั้น
การอ่านเรื่องสั้นมีประเด็นที่ควรสังเกต ดังนี้
๑. พิจารณาชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องว่าสอดคล้องกันหรือไม่เพียงใด
๒. พิจารณารูปแบบการเขียนว่าใช้แนวการเขียนแบบใด เช่น การเขียนโดยใช้เหตุการณ์เป็นหลัก หรือใช้ความรู้สึกที่มีต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หรือใช้สัญลักษณ์
๓. วิเคราะห์วิจารณ์ลักษณะเด่นของเรื่องสั้น โครงเรื่อง ตัวละคร ฉาก บทสนทนาหรือสำนวนภาษา วิธีดำเนินเรื่องโดยอาจใช้หลักเกณฑ์ที่กล่าวไว้แล้วมาประกอบการพิจารณา
๔. พิจารณาแก่นเรื่องว่าคืออะไร ผู้เขียนสามารถสื่อให้ผู้อ่านเข้าใจได้อย่างชัดเจนหรือคลุมเครือ
๕. สรุปความคิดเห็นของผู้เขียนจากการอ่านเรื่องที่เป็นผลงานของเขาหลายๆเรื่อง เช่น ต้องการพัฒนาสังคมให้ดีขึ้นด้วยการชี้ให้เห็นความสำคัญของการศึกษา